IMITATION GAME กับประเด็น privacy (คณาธิป ทองรวีวงศ์)

หนังอังกฤษที่อิงจากชีวประวัติของ Alan Turing

ภาพประกอบmovieprivacyIMITATIONGAME
นักคณิตศาสตร์ ผู้เข้าร่วมโครงการลับของรัฐบาลเพื่อรวมทีมผู้เชี่ยงชาญมาทำงานอันหนึ่ง เป็นงานสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้ว่าโดยสภาพงานที่ Alan Turing ไปร่วมทำนั้น เป็นงานในออฟฟิศ ไม่ได้ออกไปสู้รบบู๊ล้างผลาญแอ๊คชั่นอะไร ก็นั่งคิดค้นคำนวณอะไรบางอย่าง กลับเป็นงานที่มีผลต่อการแพ้ชนะของสงครามในขณะนั้นเลยทีเดียว
งานที่ว่า มีความหมายและนัยต่อสิทธิส่วนบุคคลและประเด็นยอดนิยมในบ้านเมืองเราอันหนึ่งแบบอ้อมๆในขณะนี้ ซึ่งมันก็คืองานเกี่ยวกับการดักฟังหรือดักรับข้อมูลการสื่อสารนั่นเอง เป็นการดักฟังการสื่อสารของพวกนาซี เนื้อความการสื่อสารจะเกี่ยวกับรายละเอียดการรบ แผนการโจมตี หากรู้เนื้อหาดังกล่าว ก็จะพลิกบทบาทการมีชัยหรือพ่ายแพ้ในสงครามได้เลย
แต่ที่Alan Turing และทีมงานผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้หมกตัวทำกันอยู่ใน Bletchley Park (ซึ่งก็เป็นโครงการลับของรัฐบาล) นั้นแม้ไม่ใช่ดักฟังโดยตรงแต่ก็เป็นผลเกี่ยวเนื่องกับการดักฟัง เพราะมันคือการ แปล เนื้อหาที่ดักฟังการสื่อสารมาได้
การสื่อสารของพวกนาซีในยุคนั้น คงไม่ได้แชทส่งไลน์บอกกันว่าจะให้เรือดำน้ำมายิงระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรที่ไหน เวลาใด แม้ว่าทหารนาซีบางคนอาจจะอยากโพสต์ท่าตอนจะกดยิงจรวดเพื่ออวดคนในเอเชียหรืออีกซีกโลก ก็คงไม่มีอุปกรณ์หรือสื่อใดให้ทำได้ หรือถ้าหากจะทำได้ ฮิตเลอร์ก็คงเอาไปประหารจนไม่มีใครกล้าเอาความลับมาโพสต์อีก อะไรก็แล้วแต่

ประเด็นก็คือ พวกนาซีสื่อสารข้อมูลแผนการรบโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษ ที่เรียกว่า Enigma คล้ายๆเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว (ถ้าใครยังเคยใช้หรือเคยเห็นเครื่องแบบนั้น)
การดักฟังหรือดักรับข้อมูลจากเครื่องดังกล่าว ก็ไม่ใช่จะทำโดยง่าย แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยึดหรือเอาเครื่องที่ว่ามาได้สักเครื่อง และรับข้อมูลการสื่อสารได้ ก็ไม่รู้เนื้อหาอยู่ดี เพราะเครื่องดังกล่าวมันส่งข้อมูลระหว่างกันเป็นรหัส รหัสที่มีความเป็นไปได้มากมายในการจะคาดเดาหรือถอดออกมา มากมายจนว่ากันว่าใช้เวลาอีกหลายปีหลังสงครามเลิกกันแล้วยังคงนั่งถอดรหัสหาความเป็นไปได้กันอยู่นั่น
Alan Turing และทีมงานก็เลยมารับจ๊อบสำคัญนั่งหาทางถอดรหัสเครื่องนี้อยู่ใน Bletchley Park ของอังกฤษนั่นเอง
ในแง่มุมสิทธิส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลแล้ว มีข้อน่าคิดหลายอย่าง ดังเช่น
-ดูเหมือนว่า การดักรับข้อมูลและการถอดรหัสที่อีกฝ่ายพยายามอย่างเหลือเกินที่จะทำให้เป็นความลับ กลายเป็นสิ่งดีงาม คนถอดรหัสการสื่อสารของคนอื่น กลายเป็นฮีโร่
แต่ในแง่นี้ ก็มีเหตุผลโต้แย้งว่า การดักฟังและถอดรหัสการสื่อสาร ซึ่งก็แน่นอนว่าโดยหลักแล้วเป็นการละเมิดสิทธิในการสื่อสารข้อมูลของนาซี เป็นการกระทำที่ควรแก่การได้รับการยกเว้น เห็นใจ รวมทั้งชื่นชมสนับสนุน อันเนื่องมาจากเหตุผลเพื่อ “ความมั่นคง” ตลอดจน ความสงบเรียบร้อย ปลอดภัยของประชาชนจำนวนมาก ที่จะได้รับผลกระทบจากการโจมตีของนาซี
น่าจะเป็นเหตุผลคลาสสิคที่เกี่ยวกับ “Security” ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในไทยตอนนี้
อีกอย่างในกรณีนี้เป็นการทำสงคราม ในช่วงการทำสงคราม ก็มักจะเป็นเหตุที่นำมาสู่เหตุผลสำคัญสำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยอยู่แล้ว ยิ่งในกรณีนี้คู่กรณีคือคู่สงครามด้วยกัน ไม่ใช่การสื่อสารระหว่างประชาชนต่อประชาชน นาซีก็คงไม่สามารถอ้างสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารได้
*****
รัฐหนึ่ง ตั้งโครงการลับพร้อมทีมงานลับ ทำการกันอย่างลับๆ เพื่อทำการดักรับข้อมูลและถอดรหัสลับ ของอีกรัฐหนึ่ง
ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับความลับ และมันก็ลับต่อมาอีกหลายสิบปี
กรณีจะเปลี่ยนไปมาก หากเป็น “รัฐหนึ่ง ตั้งโครงการลับ พร้อมทีมงานลับ ทำการลับๆ เพื่อักรับข้อมูลสื่อสารของประชาชนในรัฐนั้น”
และนี่คือสิ่งที่คนยุคนี้วิตกกันมากกว่ายุคนาซี
********
ประเด็นกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลที่น่าเศร้ามีหลายประเด็น เช่น
-ประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิของเพศที่สาม ทั้งนี้เพราะหนังแสดงว่า Alan Turing ถูกขุดคุ้ยประวัติว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ จนทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแถมถูกลงโทษด้วยโทษแปลกๆ คือให้ฉีดยาบางอย่างซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของเขา (ตามกฎหมายอังกฤษขณะนั้นกำหนดโทษสำหรับผู้รักร่วมเพศ : Section 11 of the Criminal Law Amendment Act 1885) แล้วพอมาอีกยุคหนึ่งก็มีการอภัยโทษให้ Alan Turing ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว และ ก็มีประเด็นน่าคิดว่า ผู้ที่ถูกลงโทษนี้คนอื่นๆอีกหลายคนเล่า จะได้รับการอภัยด้วยหรือไม่ ยิ่งกว่านั้น หากได้รับการอภัยย้อนหลังไปแล้ว จะช่วยอะไรพวกเขาเหล่านี้ได้
-ผมได้เห็นประเด็นที่น่าเศร้าอีกประเด็นที่ไม่ค่อยมีนักวิจารณ์หนังพูดถึง ในหนังจะมีตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งพยายามจะหาข้อหาอะไรสักอย่างมาดำเนินคดี Alan Turing ให้ได้ ไม่ว่าจะเริ่มจากข้อหาเป็นสปายให้กับนาซี ข้อหากบฏ ฯลฯ
ในขณะที่ Alan Turing ก็ทำงานนั่งถอดรหัสและสร้างเครื่องถอดรหัสเพื่อช่วยรัฐบาลอังกฤษและสัมพันธมิตรอยู่อย่างยากเย็น ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐเดียวกันนั่นแหละ ก็พยายามหาหลักฐานมาดำเนินคดีเขาให้ได้ มันน่าเศร้าแต่ก็สะท้อนและเสียดสีกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี มากๆ
การสืบข้อมูลของ Alan Turing ที่กระทำโดยตำรวจคนนี้ แสดงถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากมาย เช่น ไปสืบหาข้อมูลในอดีต หาข้อมูลจากแฟ้มลับหรือ “classified” , หนังแสดงให้เห็นวิธีการที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของ ตำรวจคนนี้ เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงจดหมาย (ถ้าเทียบกับกฎหมายไทยปัจจุบันก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร) ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของ Alan Turing มากที่สุด
Alan Turing ผู้มีส่วนสำคัญในการ ดักรับข้อมูล และ ถอดรหัสลับของนาซี เพื่อรัฐบาลและชาติของตน ในอีกด้านหนึ่ง แกก็ถูก ล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอยู่เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของตนนั่นแหละ
มันเป็นสิ่งดีหรือไม่ ไม่ทราบ แต่มันเป็นการเสียดสีที่งดงาม และ ประทับใจผมที่สุดแล้วในหนังเรื่องนี้
สุดท้าย ท่านตำรวจหาหลักฐานการเป็นกบฏหรือสปายอะไรก็ไม่ได้ ไปๆมาๆ เลยได้หลักฐานว่าเขาเป็นพวกรักร่วมเพศ Alan Turing ก็เลยถูกดำเนินคดีด้วยเหตุประการฉะนี้
นี่ก็เป็นอีกประเด็น ของการสืบสวนสอบสวนที่กระทบสิทธิส่วนบุคคล คือ หาหลักฐานความผิดหนึ่ง แต่ไปได้หลักฐานในอีกความผิดหนึ่ง ….เหมือนกับการดักฟังที่หากเราดักฟังทั้งหมดของบทสนทนา เพื่อจะหาความผิดหนึ่ง แต่มันไปได้ความผิดอื่นมาด้วย
สุดท้าย เพื่อนร่วมงานของตำรวจท่านนั้น ก็เอาหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวว่า Alan Turing ถูกลงโทษ มาวางให้แล้วบอกว่า ยินดีด้วย
ใครได้อะไรบ้างจากการนี้ มันน่ายินดีหรือไม่ ไม่ทราบ ตอนนั้นตำรวจท่านนั้นอาจไม่ยินดีแล้วก็ได้ แต่กระบวนการ “ยุติธรรม” ก็ต้องดำเนินไปตามระบบและแบบแผนของมัน
ท้ายที่สุด ข้อคิดดีๆ จากหนังเรื่องนี้ สรรพสิ่งล้วนแตกต่างกัน …..
….machines can’t think as people do…..they think differently….., just because something thinks differently from you, does that mean it’s not thinking? ….

ตุ๊กตายาง สิ่งยั่วยุ และ สิทธิส่วนบุคคล : ไทยไพรเวซี่ by คณาธิป

ภาพจากไทยรัฐออนไลน์ : http://truecdn1.thairath.co.th/content/247947
เจอคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์อันหนึ่ง จริงๆแล้วเป็นข่าวเก่า
http://www.thairath.co.th/content/247947

เรื่องตุ๊กตายาง
แต่จากการที่ได้ไปร่วมเสวนาในงานของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อ 28 ตค 57 ที่ผ่านมา
เกี่ยวกับ ร่าง พรบ สิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่ สนช อาจออกเป็นกฎหมายใหม่มานั้น

(จะได้รีวิวงานสัมมนานี้ในอีกบทความหนึ่ง)
ทำให้นึกถึงประเด็นนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับ สิทธิส่วนบุคคล และร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าว

คอลัมน์ในข่าวดังกล่าว เป็นเรื่อง ตุ๊กตายาง และมีเนื้อความในทางเรียกร้องสิทธิ คือ
“วอนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และ วอนผู้เกี่ยวข้องต้องรีบจัดการกวาดล้างด่วน..”
จะว่าผิดก็ไม่ใช่ เพราะมีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการกับตุ๊กตายางซึ่งจัดเป็นเซ็กซ์ทอยได้

กฎหมายอะไรบ้าง ลองดูคร่าวๆ
เวลามีข่าวเจ้าหน้าที่จับร้านขายอุปกรณ์เซ็กซ์ทอย ต้องแยกพิจารณาว่า มันมีอะไรเกี่ยวข้องบ้างเพราะจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับ ยา อาหารเสริม หรืออุปกรณ์ต่างๆ
ถ้าเป็นพวก ยา อาหารเสริมสมรรถภาพทางเพศ ก็จะต้องดูกฎหมายเกี่ยวกับยา หากเป็นยาปลอมเข้าไปอีกก็มีโทษที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น
1.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.ขายยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
3. ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ประเภท 3-4 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ
5. ขายวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทีนี้ในส่วนของตุ๊กตายาง มันไม่ได้อยู่ในนิยามของ ยา ตามกฎหมายเกี่ยวกับยา
แต่อาจถือเป็น “สิ่งอื่นใดอันลามก” ตาม กฎหมายอาญา 287 (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ถ้ามีการนำเข้าหรือค้าวัตถุดังกล่าวก็มีความผิดมาตรานี้ เช่นเดียวกับพวกเซ็กซ์ทอยอื่นๆ
น่าคิดว่า หากจำเลยต่อสู้เป็นประเด็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตุ๊กตายาง จัดเป็นสิ่งลามก ตาม ปอ 287 หรือไม่ ถ้าเราบอกว่า ตุ๊กตายางนั้นน่ารักดี จะเอามาประดับตกแต่งบ้านให้มันร้องครางฮือๆเล่น ตามแฟชั่นตุ๊กตาแอนนาเบล จะยังคงถือเป็น วัตถุลามกหรือไม่ ?
ประเด็นสำคัญของไทยไพรเวซี่ก็คือ

มันจำเป็นมากหรือไม่ ที่จะกำหนดให้ เซ็กซ์ทอย เป็นสิ่งลามก อันผิดกฎหมาย
การกำหนดห้ามพวกยาปลุกเซกซ์ต่างๆ ก็โอเค มีเหตุผลเพราะมันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ

คนที่ต้องการบำบัดการเสื่อมสมรรถภาพ ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์โดยได้ยาอย่างถูกต้อง กฎหมายเหล่านี้ก็ยังมีเหตุผล
เซ็กซ์ทอยบางอย่าง อาจนำไปใช้กับบุคคลอื่นด้วย จนอาจทำให้เกิดอันตราย ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้
แต่ตุ๊กตายาง ที่ผู้ใช้งาน ใช้โดยไม่ได้ยุ่งกับใคร ทำเป็นการส่วนตัว มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะของเขามิใช่หรือ
การทำอะไรกับตุ๊กตายาง ในที่ส่วนตัว ก็มองไม่ออกเช่นกัน ว่าจะไปกระทบศีลธรรมอันดีได้อย่างไร
ถ้าเช่นนั้น การช่วยตัวเอง โดยไม่มีอุปกรณ์เสริมใดๆเลย ขัดต่อศีลธรรมอันดีอีกหรือไม่ ?
แม้จะยังไม่เห็นมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า ตุ๊กตายาง ส่งผลต่อการลดการประกอบอาชญากรรมทางเพศได้เท่าไร อย่างไร ในพื้นที่ไหน
แต่โดยสามัญสำนึกทั่วไป ก็น่าจะกล่าวได้ว่า หากมี พื้นที่ ให้คนได้ปลดปล่อย การที่คนจะไปล่วงละเมิดชาวบ้าน น่าจะลดลง ตุ๊กตายางอาจลดปัญหาการค้าประเวณี การมีอยู่ของสถานบริการ ก็เป็นได้
หรือเราไม่อยากให้ตุ๊กตายาง ไปแย่งอาชีพและการประกอบธุรกิจดังกล่าว ?

การห้ามค้าขายตุ๊กตายาง จึงอาจมองได้ว่า เป็นกฎหมายที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว พื้นที่ส่วนตัว ของบุคคล จนเกินไป
แม้ว่าไม่ได้ห้ามการครอบครอง แต่ การห้ามค้า ก็ทำให้เกิดการลักลอบค้า ยิ่งทำให้ตุ๊กตายางมีราคาแพง

ข้อน่าคิดต่อไป หาก พรบ ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่จะเข้า สนช ออกมาเป็นกฎหมาย
จะเกิดประเด็นว่า เซ็กซ์ทอย เป็นความผิดกฎหมายนี้หรือไม่

ลองดูเนื้อหา ร่าง กฎหมาย สิ่งยั่วยุฯ
“สิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” หมายความว่า เอกสาร ภาพ สิ่งพิมพ์ รูปรอย เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ เสียงหรือถ้อยคำ ข้อความ ข้อมูล หรือสิ่งใด ๆ ที่กระตุ้น ส่งเสริม
หรือยั่วยุ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิด
(๑) การกระทำวิปริตทางเพศ
(๒) ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศกับเด็ก
(๓) การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก
(๔) การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ
(๕) การใช้ยาเสพติด หรือ
(๖) การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น
หรือทำร้ายร่างกายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
“การกระทำวิปริตทางเพศ” หมายความว่า ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศ
ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) ระหว่างบุพการีกับผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้อง
ร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
(๒) โดยใช้ความรุนแรงถึงขนาดที่น่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือโดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิต
(๓) โดยการบังคับขู่เข็ญหรือข่มขืนใจ
(๔) ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และรวมถึงการร่วมประเวณีหมู่ด้วย
(๕) โดยการชำเราสัตว์หรือชำเราศพ
ตุ๊กตายาง และการช่วยตัวเอง คงไม่อาจตีความว่า เป็น การกระทำวิปริตทางเพศได้
แต่อาจจะถือเป็นสิ่งยั่วยุ การกระทำทางเพศกับเด็ก หรือไม่ ?
จะพิสูจน์อย่างไรว่า
นาย ก เล่นกับ ตุ๊กตายาง ที่มีลักษณะเป็นผู้หญิงที่โตแล้ว จะส่งผลทำให้ นาย ก เกิดอารมณ์ไปข่มขืนเด็กอายุ 10 ขวบ ?

ตุ๊กตายาง รวมทั้งเซ็กซ์ทอยอื่นๆ จะถูกตีความว่าเป็นสิ่งยั่วยุ ตาม กฎหมายใหม่นี้ด้วยอีกหรือไม่ ?
แต่ประเด็นที่ไทยไพรเวซี่ ให้ความสำคัญก็คือ
การที่ กฎหมาย ก้าวล้ำเข้าไปควบคุม พฤติกรรมต่างๆ อันเป็น กิจกรรมส่วนบุคคลของคนอื่น ที่ไม่กระทบต่อสิทธิของคนอื่นๆแล้ว จะถือว่ากฎหมายเหล่านั้นขัดต่อสิทธิพื้นฐานของมนุษย์หรือไม่

สื่อเขียนคอลัมน์ว่า

“เสื่อมหนัก เว็บไซต์เสื่อมๆ…”

เหมือนจะชี้ผู้เสพสื่อไปแล้วว่า มันเป็นของไม่ดี ควรกำจัด กฎหมายควรลงโทษ

ไทยไพรเวซี่ เห็นด้วยกับสื่อว่า มีอะไรที่ “เสื่อม”
เพียงแต่ ไม่แน่ใจว่าอะไรเสื่อมกันแน่

หากการบังคับใช้และการตีความ ปอ 287 ตลอดจนการเกิดขึ้นของ พรบ สิ่งยั่วยุฯ
ยังคงเป็นไปในทางให้ตุ๊กตายางเป็นความผิดแล้ว
สิ่งที่เสื่อมที่สุดคงเห็นจะเป็นไพรเวซี่หรือสิทธิส่วนบุคคล ของคนที่จะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นการส่วนตัว
เฉพาะกับตัวเขา โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลย
มันไม่ใช่ right to be let alone ของเขาหรือ

ประเด็นสิทธิส่วนบุคคลกับหนัง (Movie and Privacy) : Gone Girl

gonegirl

gone girl  หนังที่มาจากนิยาย  ขายดีเล่มหนึ่ง

หนังใช้เวลาถ่ายทอดสองชั่วโมงเศษๆ ถือว่าค่อนข้างยาวและเก็บรายละเอียดจากหนังสือได้ดีทีเดียว

เรื่องย่อโดยสรุปไม่มีอะไรมาก

พระเอกอยู่กับนางเอก ที่ดูเป็นคน perfect

อยู่มาวันหนึ่ง นางเอกก็หายตัวไป

ทำให้ผู้คนตัวละครในเรื่อง รวมทั้งผุู้ชม สงสัยว่า พระเอกเป็นคนฆาตกรรม

เรื่องก็ดำเนินไป เพื่อคลี่คลายความสงสัยว่า นางเอกหายไปไหน และพระเอกเป็นคนฆ่าหรือไม่

แต่สุดท้าย ก็มีการหักมุมตามสไตล์ของหนังแบบนี้

ที่ผู้ชมก็น่าจะเดาได้ตั้งแต่แรกแม้ไม่เคยอ่านนิยายว่า พระเอกไม่น่าจะเป็นคนทำ

ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่จริงๆ

คนที่ดูเหมือนดีที่สุด กลายเป็นคนที่ร้ายกาจอย่างที่สุด   นี่ก็เป็นประเด็นธรรมดาทั่วๆไป

แต่ไทยไพรเวซี่ สนใจประเด็นในฉากเล็กๆ

ที่ไม่มีบทวิจารณ์หนังจะพูดถึง ซึ่งมันเกี่ยวกับไพรเวซี่อย่างมาก

ประเด็นนี้เป็นประเด็นธรรมดา และเกิดขึ้นได้จริงๆทั่วไปในชีวิตและโลกสังคมออนไลน์

นั่นคือ

ฉากที่พระเอกอยู่ในงานเลี้ยงที่ระดมผู้คนมาเพื่อช่วยกันตามหานางเอกที่หายตัวไป

ก็มีหญิงสาวคนหนึ่ง เข้ามาทักทายพระเอก เหมือนจะตีสนิทด้วย

แล้วก็มายืนข้างพระเอก เอามือถือถ่ายเซลฟี่ ตัวเองกับพระเอกเอาไว้

ณ จุดที่เกิดการถ่ายรูป พระเอกทำท่าเหมือนไม่อยากจะถ่ายแต่ก็พูดไม่ออก คงเพราะเกรงใจ

พอถ่ายเสร็จแล้ว  พระเอกค่อยมาบอกว่า ช่วยลบรูปนั้นออกได้ไหม

หญิงสาวคนนั้นก็เปลี่ยนสีหน้า เริ่มทำท่าไม่พอใจ

พระเอกก็ต่อรองว่า งั้นขออย่าไปแชร์ที่ไหนได้ไหม

หญิงสาวคนนั้นพูดทิ้งท้ายก่อนจากไปทำนองว่า ฉันจะแชร์ให้ใครมันก็เรื่องของฉัน

นี่เป็นประเด็นธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาในแง่สิทธิส่วนบุคคล

เป็นการเก็บข้อมูลของบุคคลอื่น

พระเอกไม่ขัดขืนหรือคัดค้าน ณ จุดที่ถ่าย

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า เป็นการให้ความยินยอมโดยปริยายแล้ว

แต่ถ้าดูภาพรวมจะเห็นได้ว่า ณ จุดนั้น  คนเราทั่วๆไป คงจะยากที่จะปฎิเสธ

ต่อมาเมื่อถ่ายเสร็จ พระเอกก็รวบรวมสติ ขอลบภาพนั้น ดังนั้น  อาจมองได้อีกแง่ว่า

ดูจากพฤติกรรมโดยรวมของเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระเอกไม่ยินยอมให้ถ่ายภาพนั้น

แต่หากดูตามกฎหมายแล้ว

ณ จุดที่ถ่ายภาพนั้น ประเด็นสำคัญคือ  พระเอกจะอ้างฐานกฎหมายใดมาขอให้ผู้หญิงคนนั้น ลบภาพของตนออกไป

ประเทศไทยปัจจุบันไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนที่อยู่ในสถานกาณ์อย่างพระเอกในจุดนี้

กฎหมายอาจเข้ามาช่วยได้ เมื่อมีคนเอาภาพนั้นไปเผยแพร่หรือทำอะไรต่อไป จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของพระเอกแล้ว

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ กฎหมายมักจะเข้ามาปลายเหตุ

การสืือสารข้อมูลออนไลน์นั้น หากปล่อยไปถึงปลายเหตุ ก็คงจะยากที่จะเยียวยาความเสียหายได้

เพราะข้อมูลคอมพิวเตอร์ เมื่อแพร่ไปแล้ว มันยากที่จะจัดการควบคุมจริงๆ

ประเด็นที่น่าสะท้อนใจและสะพรึงกลัวมากกว่า นางเอกหายไปไหนก็คือ

ไพรเวซี่หายไปไหน

สิทธิควบคุมข้อมูลของคนเรา หายไปไหน

พระเอกยืนดูด้วยสายตาหวาดระแวง และขอร้องถึงสองระดับ

ลบรูปได้ไหม

อย่าไปแชร์ได้ไหม

นี่คือการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลในการควบคุมข้อมูลของตนเองอยู่

แต่ไม่มีผลสะท้อนตอบกลับ

บัดนี้อำนาจการควบคุมข้อมูลไปอยู่ในมือของผู้หญิงคนนั้นแล้ว

Gone Girl  ก็น่ากลัว  แต่ไทยไพรเวซี่ว่า  Gone privacy น่ากลัวกว่า

****

ประเด็นต่อมา

เมื่อถ่ายไปแล้ว  ท้ายที่สุด สิ่งที่พระเอกไม่สบายใจ ก็เกิดจริงๆ

ภาพคู่ที่ถ่ายแบบ snap shot

เป็นภาพปรากฎ พระเอกยืนยิ้มคู่กับผู้หญิงคนนั้น

ออกข่าวโทรทัศน์ไปจนได้

และยิ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อชื่อเสียง ภาพพจน์ ของพระเอกในเรื่องที่กำลังถูกสั่งคมมองว่าเป็นคนผิด

ภาพหลุดดังกล่าว ไปตอกย้ำทัศนคติในแง่ลบของสังคมต่อพระเอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สังคมออนไลน์ มักจะเชื่อภาพที่ได้เห็น

แม้ว่าภาพนั้น อาจเกิดขึ้นโดยขาดบริบทแวดล้อม เบื้องหลัง ความเป็นมา หรือข้อมูลอื่นๆประกอบ

คนเห็นเพียงภาพพระเอกยิ้มคู่กับสาวคนหนึ่ง  ซึ่งไม่ใช่ภริยา และเกิดขึ้นในช่วงที่ภริยาหายตัวไปลึกลับ

แค่นี้ ก็พอจะทำให้ผู้คนที่รับข่าวสารแบบผ่านๆ  ทำการสรุป ตัดสิน ลงไปแล้ว

คนเห็นภาพ มักจะสนใจแค่ภาพที่เห็น

ไม่ได้สนใจเบื้องหลังเชิงลึกว่า ภาพนั้นได้มาอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหน ในสภาพแวดล้อมใด

ประเด็นนี้สะท้อนความเป็นจริงของสังคมออนไลน์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

ไพรเวซี่ คง Gone ไปแล้วจริงๆ

แต่ไทยไพรเวซี่เชื่อว่า ต้องมีหนทาง ให้ ไพรเวซี่ กลับมา

แต่อย่าให้กลับมาแล้วลำบากอึดอัดแบบนางเอกในเรื่องก็แล้วกัน